อย่าให้ใครมาบอกเราถึงขีดจำกัดสามารถใด ๆ

เป็นที่ชัดเจนว่า นักวิ่ง เป็นกลุ่มประชากรที่น่าจะเป็นพวกที่มีสุขภาพดี มีภูมิต้านทานโรคภัยมากกว่าผู้คนทั่วไปโดยเฉลี่ย

แต่ผู้คนภายนอกวงการวิ่งที่มองเข้ามา อาจให้ความหมายที่ต่างออกไปจากที่เราเคยชิน ที่เรามักจะเคยได้ยินได้ฟังทำนองเอ่ยชื่นชมความเก่งสามารถในเรื่องความแข็งแรง แต่ขอให้ทราบว่า นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆทัศนคติที่มีอยู่เท่านั้น

ยังมีความเห็นของผู้คนอื่นที่มองเราอย่างเคลือบแคลงอยู่บ้าง แต่เราไม่เคยได้ยิน เพราะความที่พวกเขาต้องยับยั้งคำพูดมิให้เราขัดใจซึ่งๆหน้าตามมารยาทที่ดี ความคิดเห็นเหล่านี้จึงมักอยู่ตามซอกลิ้นชักมืดๆที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้วางอยู่อย่างเปิดเผย แต่มีอยู่จริง

หนึ่งในนั้นคือ ข้อครหาว่าพวกเราทารุณร่างกายของตัวเองจนเกินไป มีอย่างที่ไหน วิ่งเข้าไปได้ ไกลๆตั้งหลายสิบโล รถมีก็ไม่ขึ้น แล้วยิ่งน่าแปลกที่สุดก็คือ ธุระปะปัง ณ ปลายทางก็ไม่มีอีก วิ่งไปทำไม วิ่งไปให้ถึง ถึงแล้วไง ถึงแล้วก็กลับ เป็นพฤติกรรมเดินทางที่ไม่เหมือนชาวบ้านร้านช่อง ที่ไปตลาดเพื่อไปซื้อข้าวของ เพื่อไปทำงาน หรือเพื่อไปส่งไปรับลูกจากโรงเรียน

แต่พวกเราวิ่งกันเฉยๆ คือวิ่งเพื่อวิ่ง วิ่งเพื่อตัวของมันเอง แล้วมันก็เหนื่อยยาก ทำตนเองประหนึ่งปัญจวัคคีย์ทรมานตนเอง ต่อคำอธิบายว่าเพื่อการออกกำลังกาย ก็มิใช่แบบนี้ ระยะทางที่มหาศาล มันไกลเกินกว่าจะใช้ขาคนธรรมดาเป็นพาหนะ แต่ก็ยังดันทุรัง ไปจนถึง

ความคิดเห็นของพวกเขาส่วนหนึ่งถูกยืนยันด้วยปรากฏการณ์บาดเจ็บของพวกเรา แล้วความบาดเจ็บนี้ก็มีแพร่หลายในหมู่นักวิ่งอยู่จริง จนหลายๆฝ่ายเชื่อว่า ความบาดเจ็บในหมู่นักวิ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญ ยิ่งตอกย้ำให้พวกเขาแน่ใจว่า การวิ่ง (แม้อาจจะเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จริงจากการวิ่งน้อยๆอย่างช้าๆ) ย่อมมีพิษมีภัย และควรหลีกเลี่ยง หรือมีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอื่นที่ดีกว่าวิ่งแน่นอน

เป็นที่น่าเสียดายว่า คำพูดและคำอธิบายของพวกเราต่อเรื่องดังกล่าวกลับไม่เฉลยข้อที่คลุมเครือของพวกเขาให้ตรงเป้า แต่กลับกล่าวอย่างลอยๆว่า
“หากผู้ใดไม่มาวิ่งเองก็จะไม่รู้สึก” และ
“ต้องมาวิ่งเองแล้วจะรู้ว่ามันมีคุณความดีอย่างไร” เหล่านี้เป็นต้น
พวกเราหาตระหนักไม่ว่าคำกล่าวเช่นนี้เป็นการผลักเสือเข้าป่า แทนที่พวกเขาฟังแล้วจะมาลองวิ่ง เพื่อจะได้รู้ , เพื่อจะได้ติดใจ จะกลายเป็นว่า
“แน่ละ……ฉันจะไม่มีวันทำสิ่งโง่ๆอย่างนั้นแน่นอน…เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะเกรงว่ามันจะต้องทำสิ่งโง่ๆนั้นตลอดกาลไงล่ะ”

นักวิ่งทุกคน ย่อมอยู่ในฐานะประเทืองวงการวิ่งได้เสมอ และย่อมควรจะเป็นเช่นนั้นด้วย ไม่ว่าคุณจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ คำพูดที่เราใช้อธิบายพฤติกรรมตัวเอง ย่อมมีผลต่อการเกิดใหม่ของผู้มีสำนึกรักสุขภาพที่สุกงอมและกำลังตัดสินใจจะมาวิ่งในอนาคตหรือไม่? หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีผลต่อทัศนคติของคนภายนอกที่มีเข้ามาในวงการเสมอ

คำถาม หรือคำทักทายของคนภายนอก ที่เอ่ยสนทนากับพวกเรา มิได้หมายความตามคำพูดที่เขาเอ่ยมาเสมอไป บางทีการตอบตรงตามประเด็น ดูมันจะไม่เอื้อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันและกันขึ้นมา ที่ผู้เขียนเจอบ่อยก็คือ “วันๆคุณวิ่งกี่กิโลฯครับ” (คือ เขาเห็นเราซ้อมมาก อันเป็นวาระที่หมายไว้ในตารางฝึก) แทนที่ผู้เขียนจะตอบไปว่า ยี่สิบกิโลครับที่บังเอิญวันนั้นเป็นวันวิ่งยาวพอดี ผู้เขียนกลับตอบไม่ตรงคำถามว่า
“ถ้าเพื่อสุขภาพ ไม่ต้องวิ่งอย่างนี้นะครับ ที่วิ่งอย่างนี้เป็นโปรแกรมฝึกเพื่อไปแข่งขันที่ต้องมีการฝึกที่จำเพาะเจาะจงแตกต่างออกไป สำหรับเพื่อสุขภาพธรรมดา คุณวิ่งเพียงวันละ 4-5 กิโล สัปดาห์ละ 4-5 วัน ก็เพียงพอแล้ว คุณก็จะได้รับภูมิต้านทานดีเทียบเท่าพวกผมแหละครับ”

แม้จะตอบอย่างไม่ตรงคำถามแบบนี้ทุกคราว แต่ผู้เขียนสังเกตเห็นแววตาของพวกเขาที่ฟ้องว่า เราตอบได้ตรงใจเขามาก หรือเฉลยข้อข้องใจได้หมดจด ด้วยสีหน้าที่แสดงถึงความเข้าใจ ตรงกันข้ามหากเราตอบไปว่า “เท่านั้นเท่านี้กิโล” ต่อมความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองในหมู่พวกเขาจะถูกทำให้ฝ่อจนหมดสิ้น กับความคาดหวังว่า ตัวเองคงจะสิ้นใจกลางทาง สำนึกแห่งความท้าทาย และความกล้าหาญหยั่งถึงศักยภาพคนเราจะถูกทำลายให้กลายเป็นหนังตลกที่เป็นไปไม่ได้

ในอีกด้านหนึ่ง ที่บางครั้ง บางจังหวะ และบางราย พวกคนภายนอกเหล่านี้ ยังกล้าหาญมาชวนเราให้เลิกวิ่งเสียอีก อันที่จริงต้องกล่าวว่า เขาทำเช่นนี้ เพราะความหวังดีต่อเราแท้ๆ เพราะความที่กลัวเราจะเดี้ยงไปเสียก่อน กลัวว่าการวิ่งจะเป็นตัวการบ่อนทำลายสุขภาพของเรา (อย่างที่เขาเคยเห็น , เคยรู้)
เช่น “ระวังนะ วิ่งอย่างนี้เข่าจะเสีย” หรือ “ระวังกระดูกจะเสื่อม” ว่าแล้วก็ยกตัวอย่าง นักวิ่งที่เดี้ยงคนนั้นคนนี้ ซึ่งตัวอย่างเหล่านั้นก็ถูกต้องเสียด้วย
“อายุมากแล้ว จะวิ่งจะทำอะไรให้ดูตัวเองด้วย”
“อย่าใช้งานให้หนัก มันจะยิ่งลดประสิทธิภาพร่างกายในช่วงท้ายชีวิตลงไปอีก” แล้วก็อะไรต่ออะไรที่ตอกย้ำกัดกร่อนความมั่นใจเจาะหูนักวิ่งอยู่ทุกวัน

ที่สุดประหลาดก็คือ กลับมีนักวิ่งเองบางรายให้ความเชื่อถือเสียด้วย ด้วยการลดปริมาณการฝึกลงในฐานะตัวเริ่มจะมีอายุ อย่างไม่คำนึงว่าระดับของตัวเองที่เคยทำได้นั้นสูงจากผู้คนปกติมากจนอยู่ตัวนานแล้ว จากความเชื่อนั้นๆจึงได้ลดความเร็วที่เคยทำได้ลง แล้วลดลงไปอีกเรื่อยๆกลายเป็นเดิน (อาจตามแบบอย่างนักเกลี้ยกล่อมนั้นก็ได้) แล้วที่เดินก็เดินให้น้อยๆลงจนเทียบเท่าสหายผู้ชราภาพและอ่อนเปลี้ยเหล่านั้น เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็เท่ากับว่า วงการ ได้สูญเสียนักวิ่งไปอีกคนหนึ่งแล้ว

นี่ต้องเรียกว่า คบหาสมาคมผิดกลุ่ม ยังไม่พอ ตัวนักวิ่งเองก็หามีองค์ความรู้ประดับเรือนกายด้วยไม่ แทนที่วิ่งมาตั้งนานแล้ว น่าจะเป็นหลักทางความรู้ให้กับผู้ที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าไม่เสมอไปที่คนสูงวัยทุกคนต้องอ่อนแอ , หรือต้องมีพฤติกรรมกระย่องกระแย่งสมวัย ให้เข้าใจได้ถูกต้อง แต่กลายเป็นถูกกลืนและค่อยๆจางหายไปในที่สุด

ตัวอย่างนี้มีเป็นระยะๆ แม้จะมีผู้อ่านนักวิ่งบางคนยืนยันคอเป็นเอ็นว่า ยังไงๆฉันก็จะวิ่งของฉันอย่างนี้ตลอดไป แต่นี่เป็นตัวเราไงครับที่คิดอย่างนี้ และตัวเขาคิดอย่างนั้น เพราะความที่คนเราคิดแตกต่างกันไง โลกมันถึงเป็นอย่างทุกวันนี้

การที่คนหนึ่งๆจะสามารถทำอะไรที่ยากๆ และหนักหนาได้หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่พื้นเพเบื้องหลังและพฤติกรรมสะสมด้วย ไม่ใช่จู่ๆวันนี้ ผู้เขียนจะสามารถวิ่งคอร์ท 800 เมตร 10 เที่ยว ที่ต่ำกว่า 3 นาทีได้เป็นวันแรก แต่ผู้เขียนผ่านการค่อยๆฝึกค่อยๆวิ่งอย่างช้าๆมีแบบแผนที่แน่นอนนานเป็นปีๆแล้ว กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ผู้คนเห็นว่า “อายุปูนนี้แล้ว วิ่งไม่เจียมตัว” ผู้เขียนผ่านการค่อยๆเติบโต เขยิบความเข้มข้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ทีละนิด จนมันกลายเป็นเรือนร่างอีกเรือนร่างที่แตกต่างไปจากร่างเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างคนละเรื่อง แล้วก็ไปไกลกว่าเรือนร่าง Average ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มอายุเดียวกัน

เซอร์โจเจอร์ แบนิสเตอร์ (Sir Roger Banister) ผู้สามารถวิ่งระยะ 1 ไมล์ได้ต่ำกว่า 4 นาที คนแรกของโลก (1954) กล่าวว่า No one can say “You must not run faster than this or jump higher than that , The human spirit is indomitable”

สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวไป มิได้มีเจตนายกเลิศเชิดชูพวกนักวิ่งด้วยกันเองว่าเลิศล้ำสามารถเหนือผู้คนกลุ่มอื่นๆที่ไม่วิ่ง แต่ประเด็นมันอยู่ที่ความพยายามชี้ให้เห็นว่า ศักยภาพที่ธรรมชาติให้เรือนร่างนี้แก่มนุษย์มา มันมหัศจรรย์ที่สามารถปรับตัวได้มากกว่าที่เราคาดการณ์มากมาย อันจะมองให้ไกลไปอีกก็ได้ว่า จะให้คนเราทุ่มเทความตั้งอกตั้งใจในทางความคิด , ความงดงามไพบูลย์ หรือสัจจธรรมใดๆที่สูงส่งขึ้นไปอีก ก็ย่อมได้ หรือจะปล่อยปละละเลย เท้งเต้งแล้วแต่ลมใดจะพัดมา กระแสใดจะไหลไป พลอยเสื่อมละลายคุณค่าความเป็นอัจริยะ หรือทำคุณงามความดีแห่งอริยะที่มีอยู่เดิมในตัวทุกคนตกหายก็ได้อีกเช่นกัน

ควรอย่างยิ่งที่นักวิ่ง หรือนักอื่นใดก็ตาม ตระหนักให้แจ่มชัด เพื่อจะได้เข้าไปจัดการดูแลตัวเองให้สมกับที่เรามีสิ่งมหัศจรรย์อยู่ในมือ คือร่างกายและสติปัญญา จะได้ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เงื่อนไขและโอกาสของแต่ละคนจะพึงมี

01.06 น.
8 สิงหาคม 2552

0
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้นะครับx
X