คำเตือนหลังอัลตร้ามาราธอน

เมื่อไปวิ่งอัลตร้ามา จงไปพักฟื้นร่างกายให้พอเพียงเสียก่อน
อย่ารีบกลับเข้าสนามซ้อม อย่าเร่งรัดแผนฝึก ยิ่งการไปแข่งสนามต่อไป
ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

การวิ่ง………ถ้าวิ่งแล้วเราควรคาดหวังการพัฒนาขึ้นไม่ใช่ถอยหลังลง
วิ่งแล้วความแข็งแกร่งขึ้น ไม่ควรอ่อนเปลี้ย

องค์ประกอบที่จะก่อผลให้เป็นอย่างนั้นได้ ไม่ได้มีเพียงการฝึกฝน
แต่ “การฟื้นตัว” ก็สำคัญมาก อย่าลืมนะว่าระหว่างการขาดซ้อม
หรือ ซ้อมน้อยเกินไป กับการได้รับบาดเจ็บหรือโอเว่อร์เทรน
อย่างหลังแย่กว่า ค่าที่ว่าเมื่อเราดำริจะตั้งใจซ้อมขึ้นมาเมื่อใด
เราก็สามารถลงมือได้ทันที แตกต่างจากอย่างหลัง
การหายจากบาดเจ็บ มิได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของเรา

มีนักวิ่งหลายราย วิ่งมาก วิ่งเร็ว แต่ไม่พบว่าเป็นไร
แต่กลับบาดเจ็บจากการซ้อมที่เบาในวันหนึ่ง
บางคนจบสนามมาราธอนอย่างน่าพึงพอใจ
แต่เริ่มเจ็บจากการกลับมาซ้อมหลังแข่ง

ที่เป็นเช่นนี้…..มิใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอันใด
ก็เพราะความล้าสะสม ปริ่มขอบมาตั้งนานแล้ว
ร่างกายต้องการพักฟื้นอย่างยิ่ง แต่กลับมาเจ็บกับตอนวิ่งเบาๆเท่านั้น

ช่วงเวลาที่เพิ่งเสร็จสิ้นเทศกาลอัลตร้าไป
แต่โบรชัวร์ใหม่ที่ต่างๆหลายสนามไม่รอให้นักวิ่งอัลตร้าหายชอกช้ำก่อน
เสนอตัวเชื้อเชิญมาให้พวกเราไปร่วมวิ่งอีก

เราต้องรู้ตัวว่าอะไรควรหรือไม่ควร
ผมกล้ารับประกันอย่างไม่จำแนกฝีเท้าเลยว่านักวิ่งอัลตร้า
ที่วิ่งครบระยะทุกท่าน ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปสนามแข่งใดๆเลย
หนึ่งเดือนเต็มหลังจากสนามอัลตร้า ไม่ว่าเขาจะมีฝีเท้าระดับใด
แม้ว่าสนามใหม่ก็ไม่เอาความเร็วด้วยเช่นกัน
ก็ยังไม่เห็นสมควรอยู่ดี

กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ผู้ที่ละเมิดคำแนะนำประการนี้จะต้องได้รับบาดเจ็บทุกคน
เรากำลังกล่าวในเทอมของอัตราเสี่ยงที่ไม่มีความจำเป็น

จงอย่าลืมประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่
“ทำอย่างไร เราจะวิ่งต่อไปได้ ตลอดอายุขัยโดยไม่เดี้ยงไปเสียก่อน”
อย่างนักวิ่งบางคน จงเอาเขาเป็นตัวอย่างในแง่มุมกลับ

นักวิ่งส่วนมากมีแนวโน้มประมาณการณ์ผลการซ้อมและแข่งขัน
ที่ก่อผลกับร่างกายคลาดเคลื่อนเสมอ ใน 3 ประการดังต่อไปนี้

1) รีบกลับเข้าสนามซ้อม เพราะกลัวการหยุดพักฟื้นนานไป ร่างกายจะตกฟิต

2) ให้คาบระยะเวลาฝึกน้อยเกินไป ต่อการไปสนามเป้าหมาย

3) คาดการณ์การหายดีจากความบาดเจ็บหรือการฟื้นตัวของเรือนร่างน้อยกว่าความเป็นจริง

จำไว้ว่า การไปสนามซ้อมประจำวัน สิ่งที่ต้องเตรียมนำไปด้วย
ไม่ได้มีเพียงน้ำดื่มและนาฬิกาจับเวลา แต่ต้องมี “ความสด”
เป็นเชื้อมูลอยู่ด้วยเสมอไป

นักวิ่งพยายามทนต่อสัญญาณเตือนจากธรรมชาติที่ฟ้องออกมา
ด้วยการวิ่งมาก , วิ่งเร็ว , และวิ่งกระชั้นชิด อย่างไม่ตระหนักถึงผลลัพธ์ของมัน

ประเด็น………….อยู่ที่แม้จะซ้อมได้ แต่ร่างกายจะซึมซับผลของการซ้อมหรือเปล่า?
อันนี้น่าคิดกัน จะเหนื่อยฟรี อีกต่างหาก

จงใช้ประสบการณ์วิ่งที่มีอยู่ ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
หมั่นศึกษาองค์ความรู้เรื่องวิ่งและบทเรียนวิ่งจากตัวเอง
พร้อมๆกับการดูตัวอย่างการทำตัวของนักวิ่งคนอื่น

ทำได้อย่างนี้ นักวิ่งจะสามารถลดความเสี่ยงบาดเจ็บจากการวิ่งได้
และยืนยงอยู่ในวงการได้ยาวนาน
ขอให้ทุกท่าโชคดีครับ

10.30 น. / 8 พฤษภาคม 2555
ต้นฤดูฝน ปลายหน้ามะม่วง / หลังเทศกาลอัลตร้า

ตอบให้แน่ชัดไม่ได้
คำแนะนำมีว่า…อย่าเคาะจานกระเบื้องเล่น..เดี๋ยวแตก
แต่ถ้าดื้อ..ยังเคาะเล่นต่อ ไม่ได้หมายความว่าจะแตกทุกราย
โอกาสมันเสี่ยง เราพูดเป็นเปอร์เซนต์ โอกาสความน่าจะเป็นมันสูง

จานใบหนึ่งมันแตกง่าย อีกใบหนึ่งแตกยาก เคาะเล่นเท่าไรก็ไม่แตก
ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แตกสักวันหนึ่ง

วิทยาศาสตร์บอกเราว่า ถ้ายังไม่หยุดพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเหล่านี้
มีหวังแตกได้จริงสักวันหนึ่ง

ชีวิตวิ่งของเรา เราเลือกได้ ว่าจะมีพฤติกรรมวิ่งแบบเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย

ถ้าเรามีเป้าหมายเพื่อให้ได้สุขภาพในการมาออกกำลังกาย ถามว่าเราจะเสี่ยงไปเพื่ออะไรกัน

บางทีเราวิ่งแล้วเพลิน วิ่งแล้วมัน เลยธง มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง
รู้ตัวเมื่อไร ก็ควรจะม้วนหางเมื่อนั้น ส่วนตัวไม่ทำเองอยู่แล้ว
แต่ผมตระหนักดีถึงภาวะเช่นนี้แพร่หลายในหมุ๋นักวิ่ง
จึงออกมาเตือนกัน

ส่วนรายที่วิ่งมาราธอนแล้วก็วิ่งอีก สะสมสนามเข้าเกียรติประวัติ
ส่วนใหญ่ท่านเหล่านี้มีความแข็งแกร่งเป็นเลิศ
และมีประสบการณ์หนาเตอะ เขารู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่
สุ่มเสี่ยงแค่ไหน รับได้หรือไม่ และพร้อมจะรับความเสี่ยงอยู่แล้ว
ด้วยการเลือกรับแต่วิ่งมากเท่านั้น แต่ไม่รับความเร็วเข้ามา

ส่วนใหญ่พวกนี้จะวิ่งไม่เร็ว เพราะเขาแน่ใจว่าความเร็ว
จะเป็นตัวบีบคั้นเรือนร่างอย่างเอกอุ แต่อย่างไรก็ตาม
เราก็คิดว่าแต่กิโลเมตรที่มากอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เจ็บได้อยู่เหมือนกัน
เราทำตัวเอง อย่าไปสนใจคนอื่น ทำให้ถูกต้องเหมาะสมกับตนเองก็แล้วกัน

0
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้นะครับx
X